ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี

 

 

  ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี

          หลายครั้งที่คุณอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องไปตรวจสุขภาพทุกๆปี ทั้งๆที่ร่างกายในปัจจุบันก็ยังแข็งแรงดี และบ่อยครั้งที่คุณอาจจะยังงงๆและสงสัยว่าในการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งจะต้อง ตรวจอะไรบ้างและควรเริ่มจากสิ่งใด เรามีคำตอบให้ในนี้ค่ะ การตรวจสุขภาพก็เหมือนกับการประเมินสภาพร่างกายของเราค่ะว่า ภายในร่างกายเรายังแข็งแรงอยู่หรือไม่ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคตหรือเปล่า และหากตรวจพบว่ามีอาการบางอย่างที่ส่อเค้าว่าอาจพบโรคบางโรคในระยะเริ่มต้น เราจะได้เตรียมปรึกษาคุณหมอเพื่อดูแลและรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคแต่เนิ่นๆ ส่วนข้อจำกัดในการเลือกว่าจะตรวจสภาพร่างกายลักษณะใดนั้น สามารถแบ่งองค์ประกอบโดยขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และความเสี่ยงเป็นหลัก

 

   เรามาดูกันค่ะว่าหลักๆมีอะไรบ้าง

 

 

 Complete Blood Count (CBC)

ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือการตรวจนับปริมาณเม็ดเลือดแดง รูปร่างของเม็ดเลือดแดง เพื่อบ่งชี้ภาวะของโลหิตจางและการตรวจนับเม็ดเลือดขาว เพื่อดูการติดเชื้อและภูมิต้านทานของร่างกาย รวมถึงการตรวจเกร็ดเลือดเพื่อดูความสามารถในการแข็งตัวของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล

Glucose
เบาหวาน คือการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อทำการคัดกรองกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็น โรคเบาหวานและประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน

Hemoglobin A1C
คือการตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือดของเดือนที่ผ่านมาเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานและประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน

Total Cholesterol  
คือการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดอย่างสมบูรณ์ของระดับคอเลสเตอรอลในเลือดซึ่ง เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองและโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 
1) HDL-Cholesterol ไขมันชนิดดีทำหน้าที่ป้องกัน LDL และ Cholesterol ไปสะสมที่เส้นเลือด 
2) LDL-Cholesterol ไขมันชนิดไม่ดีทำหน้าที่ควบคุมระดับไขมันในเลือดเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ 
3) Triglyceride ไตรกลีเซอไรด์ได้จากการสังเคราะห์ที่ตับ สาเหตุที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน การรับประทาน          อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป 

High Sensitivity C-Reactive Protein
คือการตรวจเพื่อบอกถึงค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ Exercise Stress Echocardiography การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพานจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและ Echocardiogram เพื่อดูโครงสร้างจองหัวใจพร้อมทั้งลิ้นหัวใจ การบีบเลือดออกจากหัวใจ ทั้งก่อนและหลังการเดินสายพาน ทำให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแขนขา ซึ่งจะบอกถึงความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจในอนาคตได้

Uric Acid
คือการตรวจวัดระดับยูริกในเลือดที่สูงกว่ามาตรฐานของโรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับยูริกสูงขึ้นอาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ผักบางชนิด เช่น แตงกวา หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก

Blood Urea Nitrogen (BUN)
คือการตรวจการทำงานของไต วัดระดับปริมาณของเสียที่ร่างกายปกติจะสามารถขับออกไปได้ หากคุณมีโรคไตจะทำให้มีการคั่งของ Creatinine ในร่างกายซึ่งเป็นสารที่บ่งบอกถึงการทำงานของไต

Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase (SGOT/AST)

คือการตรวจการทำงานของตับ เอนไซม์ ที่พบได้จากเนื้อเยื่อของอวัยวะหลายชนิดได้แก่ หัวใจ กล้ามเนื้อ สมอง ตับอ่อน ม้ามและไต ซึ่งจะสูงขึ้นผิดปกติ เมื่อมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบของอวัยวะอันเนื่องมาจากการรับประทานยาบาง ชนิดหรือการบาดเจ็บของกระดูกเป็นต้น

     การตรวจหาไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบบี

การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำได้โดยการตรวจ Hepatitis B Surface Antigen (HbsAg) และทำการตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยการตรวจ Hepatitis B Surface Antibody (Anti-HBs) สำหรับผู้ที่ไม่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันควร ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบเอ
สามารถติดต่อได้จากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหาร ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบซึ่งสามารถทำการตรวจหาภูมิคุ้มกันสำหรับเชื้อไวรัส ตับอักเสบเอได้ โดยการตรวจ HAV LgG ซึ่งหากไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

ไวรัสตับอักเสบซี
การตรวจสำหรับไวรัสตับอักเสบซีเป็นการตรวจว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับ อักเสบซีหรือไม่ โดยการตรวจ Anti HCV ถ้าตรวจพบว่าเป็น Positive แสดงว่ามีการติดเชื้อหรือเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบซี ต้องพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป 

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง Tumor Marker
Alpha-fetoprotein (AF) เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งตับ ซึ่งถ้าหากพบว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานก็ควรจะต้องทำการตรวจโดยละเอียดกับแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามผลการตรวจ AFP อาจสูงขึ้นกว่าปกติได้เล็กน้อยในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง

Carcinoembrionic Antigen (CEA)
เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ อาจพบว่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็ง ปอด ตับ ตับอ่อนและสามารถพบได้ในผู้ที่สูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานาน ภาวะตับแข็งหากพบว่าสูงกว่าค่ามาตรฐานต้องทำการตรวจโดยละเอียด เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

Prostate Specific Antigen (PSA)
เป็นการตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจจะพบว่าสูงกว่าปกติได้ในผู้ป่วยที่มี่ต่อมลูกหมากโต ควรจะทำการตรวจ PSA ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีและควรทำการตรวจเป็นประจำทุกปี

CA125
เป็นการตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งรังไข่และอาจพบว่าสูงขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มี ถุงน้ำที่รังไข่ ก้อนเนื้อที่รังไข่หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ซึ่งถ้าหากพบว่ามีค่าสูงกว่ามาตรฐานควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่ม เติม เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ส่วนล่างหรือการส่องกล้องเพื่อตรวจภายในช่องท้อง

CA15-3
เป็นการตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามการตรวจมะเร็งที่ได้ผลดีและเป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือการ ตรวจเอ็กซเรย์และอัลตราซาวน์เต้านม (Mammogram)

CA19-9
เป็นการตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งตับอ่อนและทางเดินอาหาร หากพบว่าสูงกว่ามาตรฐานควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารเพื่อทำ การตรวจเพิ่มเติม

Urine Examination
การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ เพิ่มตั้งแต่การตรวจสี ความใส ความเป็นกรด ด่าง และการตรวจหาสารต่างๆที่จะปนมาในปัสสาวะ

Stool Occult Blood
การตรวจคัดกรองการเกิดมะเร็งลำไส้ มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ตั้งแต่ระยะแรกและหากพบว่ามีเลือดปนใน อุจจาระต้องทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการส่องกล้องเพื่อตรวจทางเดินอาหารโดย ละเอียด

Chest X-Ray
การตรวจเอ็กซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีก้อนหรือจุดผิดปกติในปอดและสามารถดูขนาดของ หัวใจได้ แต่สำหรับมะเร็งปอด การตรวจเอ็กซเรย์ปอดบางครั้งก็บอกไม่ได้ มาตรวจเดือนนี้ไม่พบแต่อีกสามเดือนมาตรวจอีก แล้วเจอก็เป็นได้ 

Ultrasound Whole Abdomen
การตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง ถ้าเป็นช่องท้องส่วนบนจะดูตับ ไต ตับอ่อน ถุงน้ำดี ม้าม เส้นเลือดแดงใหญ่ว่ามีก้อนติ่งเนื้อหรือนิ่วบ้างหรือไม่ และถ้าเป็นช่องท้องส่วนล่างก็จะดูกระเพาะปัสสาวะ คุณผู้หญิงก็จะสามารถเห็นมดลูก รังไข่ ส่วนคุณผู้ชายก็จะสามารถดูต่อมลูกหมากได้
ดิฉันเชื่อว่าข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปีนั้นสามารถป้องกันโรคได้และ ค้นหาโรคตั้งแต่ระยะแรกและสุดท้ายเพื่อนำผลข้อมูลที่ได้ของคุณมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมๆ ให้มีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงขึ้นโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ ซ้ำไปซ้ำมาจนเกินความจำเป็น

  • ตรวจสุขภาพบุคลากรประจำปี

    กลุ่มอายุต่ำกว่า 35 ปี
    1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    2. การตรวจหมู่เลือด
    3. เอ็กซ์เรย์ปอด
    4. ตรวจปัสสาวะ
    5. ตรวจอุจจาระ
    6. การตรวจมะเร็งปากมดลูก
    7. การพบแพทย์
    กลุ่มอายุ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
    1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
    2. การตรวจหมู่เลือด
    3. เอ็กซืเรย์ปอด
    4. ตรวจปัสสาวะ
    5. ตรวจอุจจาระ
    6. ปริมาณน้ำตาลในเลือด ดูภาวะเบาหวาน
    7. ปริมาณไขมันในเลือด (Cholesterol , Triglyceride)
    8. สมรรถภาพของไต (Bun , Creatinine)
    9. สมรรถภาพของตับ (SGOT , SGPT , Alkaline Phosphatase)
    10. กรดยูริค (Uric Acid) ดูโรคเก๊าท์
    11. ตรวจระดับไขมัน HDL (ไขมันดี)
    12. ตรวจระดับไขมัน LDL (ไขมันที่ไม่ดี)
    13. การตรวจมะเร็งปากมดลูก
    14. การพบแพทย์
  • การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน

    การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน

    ทุกรายการตรวจ จะตรวจวิเคราะห์โดยนักเทคนิคการแพทย์ภายใต้ระบบควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพ และเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์ที่ทันสมัย

    การตรวจสุขภาพพนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน ทำให้ทราบภาวะสุขภาพและแนวโน้มการเจ็บป่วยของพนักงาน หากพบสภาพการเจ็บป่วยในระยะเริ่มต้นจะได้ให้การรักษาหรือป้องกันได้ทันท่วงที

    องค์ประกอบของการตรวจสุขภาพ ประกอบด้วย การซักประวัติ การตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ การทดสอบต่าง ๆ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

    ก่อนการตรวจสุขภาพ พนักงานควรปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและตรงกับสภาวะสุขภาพที่เป็นจริง

    การตรวจสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์

    การตรวจสุขภาพทั่วไป สอบถามอาการและอาการแสดงต่างๆ ของโรคที่ปรากฏ การพัฒนาการของโรคประกอบการสังเกต ระบบหายใจ ผิวหนัง สีเล็บ เหงือก ตา สีหน้า ศีรษะ ผมที่ผิดปกติ การวัดความดันโลหิต ชีพจร น้ำหนัก ส่วนสูง การทดสอบระบบประสาทต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการสังเกตพฤติกรรม การเคลื่อนไหว การตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น การมีพฤติกรรมก้าวร้าว เงียบเหงา หาวนอน ตื่นตกใจง่าย หรือการตื่นเต้นผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

    การทดสอบต่าง ๆ เช่น

    - การทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน ในกลุ่มพนักงานที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดังเกิน 85 dBA
    - การทดสอบสมรรถภาพทางสายตาในกลุ่มพนักงาน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแสงจ้าหรือรังสีต่างๆที่ใช้สายตาเพ่งขณะทำงานเป็นระยะเวลานานๆ
    - การทดสอบสมรรถภาพปอดในกลุ่มพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่นหรือสารเคมีที่มีผลกระทบ ต่อการทำงานของปอดและหลอดลม

    การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

    การถ่ายภาพรังสีทรวงอก ในกลุ่มพนักงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่นหรือสารเคมีที่มีผลต่อระบบหายใจ โดยใช้ฟิล์มขนาด 14”x17” หรือ 14 “x14”

    การกำหนดรายการตรวจสุขภาพพนักงาน

    การกำหนดรายการตรวจสุขภาพของพนักงาน ต้องพิจารณากลุ่มคน ตามลักษณะของปัจจัยเสี่ยงที่ได้รับ ซึ่งอาจกำหนดรายการตรวจสุขภาพเป็น 2 ประเภท คือ

    1. การตรวจสุขภาพทั่วไป สำหรับพนักงานที่ไม่สัมผัสปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน
    รายการตรวจสุขภาพทั่วไป ประกอบด้วย

    - การซักประวัติการทำงาน และการเจ็บป่วย
    - การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
    - การตรวจสุขภาพทั่วไปโดยแพทย์
    - การวัดความดันโลหิต ชีพจร
    - การตรวจเลือด (CBC)
    - การตรวจการทำงานของตับ (SGOT, SGPT, Alkaline Phosphatase)
    - การตรวจปัสสาวะ
    - การตรวจอุจจาระ

    กรณีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจเพิ่มเติม เช่น

    - การตรวจน้ำตาลในเลือด
    - ไขมันในเส้นเลือด(Cholesterol Triglyceride)
    - การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

    2. การตรวจสุขภาพตามลักษณะงาน หรือตามลักษณะปัจจัยเสี่ยงที่พนักงานได้รับ

    ตัวอย่างรายการตรวจสุขภาพด้านล่างนี้ ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรายการตรวจสุขภาพให้แก่คนงานในสถานประกอบการ อย่างไรก็ตามสถานประกอบการควรทำการตรวจประเมินความเสี่ยงโรคจากการทำงาน เพื่อยืนยันความจำเป็นหรือปรับรายการตรวจให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

    ปัจจัยเสี่ยง
    รายการตรวจสุขภาพ

    ฝุ่น
    การถ่ายภาพรังสีทรวงอก

    ทดสอบสมรรถภาพปอด

    เสียงดัง
    ทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน

    โลหะหนัก
    ตรวจหาโลหะหนักในเลือด ปัสสาวะ เส้นผม ฯลฯ


    ปัจจัยเสี่ยง
    รายการตรวจสุขภาพ

    สารทำละลาย สี ทินเนอร์
    ตรวจสารเคมีในเลือด

    ตรวจโรคผิวหนัง

    แสงจ้า การใช้สายตานานๆ
    ทดสอบสมรรถภาพสายตา

    ความร้อน
    ตรวจระบบหัวใจ หลอดเลือด ตับ ระบบหายใจ ผิวหนัง

    การเตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพ

    ก่อนการตรวจสุขภาพ

    - ไม่ควรอดนอน ดื่มสุราหรือกาแฟ ในคืนก่อนการตรวจสุขภาพ เนื่องจากจะทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าที่เป็นจริง
    - ควรใส่เสื้อผ้าที่พับแขนเสื้อขึ้นได้สะดวกไม่รัดแน่น เพื่อความสะดวกในการเจาะเลือด


    การอดอาหารก่อนตรวจสุขภาพ

    - การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ต้องงดน้ำและอาหารก่อนการเจาะเลือด 6 ชั่วโมง และตรวจไขมันในเลือด (CHOLESTERO, TRIGLYCERI, HDL, LDL) งด 12 ชั่วโมง หากกระหายน้ำหรือหิวมาก ให้จิบน้ำเปล่าได้เพียงเล็กน้อย
    - หลังจากเจาะเลือดแล้วสามารถรับประทานน้ำและอาหารได้ทันที จากนั้นเข้ารับการตรวจรายการต่อไปได้


    การเก็บปัสสาวะ

    - ให้ถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึงเก็บเก็บปัสสาวะในช่วงกลาง (Mid Stream)
    - สุภาพสตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนไม่ควรตรวจ หรือถ้าต้องตรวจกรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ


    เอกซเรย์ปอด

    - ในวันตรวจงดใส่เครื่องประดับต่างๆที่เป็นโลหะ
    - สุภาพสตรีไม่ใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
    - ไม่ควรเอ็กซเรย์ หากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่
  • การตรวจสายตาอาชีวอนามัย,การตรวจการได้ยิน,การตรวจสมรรถภาพปอด

    ความเสี่ยง

    เรียบเรียงโดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์

    หลังจากที่ได้รู้จักกับสิ่งคุกคาม (hazard) และการสัมผัส (exposure) ไปแล้ว หลักการพื้นฐานทางด้านอาชีวเวชศาสตร์อันดับต่อไปที่จะกล่าวถึงคือเรื่องของความเสี่ยง (risk)

    ความเสี่ยง (risk) คือ “ โอกาส” ที่สิ่งคุกคามต่อสุขภาพจะส่งผลกระทบต่อเรา หากสิ่งคุกคามที่เราสัมผัสมีโอกาสในการก่อผลกระทบได้มากจะเรียกว่า “เสี่ยงมาก” แต่หากสิ่งคุกคามที่เราสัมผัสมีโอกาสก่อผลกระทบได้น้อยก็เรียกว่า “เสี่ยงน้อย”

    อุปมาเสือตัวหนึ่งคือสิ่งคุกคามที่อาจจะมาทำอันตรายต่อเราได้ ถ้าเสือนั้นถูกปล่อยออกมาเดินเพ่นพ่านได้อย่างอิสระ ไม่มีโซ่ล่ามไว้ อีกทั้งยังหิวโซ ก็มีโอกาสที่เสือจะมาทำอันตรายเราได้มาก ดังนี้เรียกว่าเสี่ยงมาก (high risk) แต่หากเสือตัวเดียวกันอยู่ในกรงที่แน่นหนา ทั้งยังมีโซ่ล่ามไว้อีกชั้น แล้วเรายืนดูเสืออยู่ภายนอกกรง ก็เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกเสือทำร้ายน้อย (low risk)

    เสือตัวเดียวกัน แต่อยู่ในสภาพต่างกัน ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกันไปด้วย สิ่งคุกคามต่อสุขภาพชนิดเดียวกัน แต่หากอยู่ในสภาพที่ต่างกัน ความเสี่ยงในการก่อโรคก็ย่อมต่างกันไป สารเคมีชนิดหนึ่ง ถูกใช้ใน 2 สถานที่ทำงาน ด้วยความเข้มข้นที่เท่ากัน ปริมาณที่เท่ากัน ซื้อมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ที่แรกให้พนักงานสัมผัสสารเคมีนี้โดยตรง ใช้มือเปล่าสัมผัสตลอดทั้งวัน อีกที่หนึ่งให้พนักงานทำงานกับสารเคมีโดยไม่มีการสัมผัสโดยตรง ให้ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากป้องกันไอระเหย และใช้ขันด้ามยาวตักสารเคมี ความเสี่ยงในการเกิดพิษจากสารเคมีชนิดนี้ในสองสภาวะย่อมไม่เท่ากัน

    การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ในงานอาชีวอนามัย จึงมีประโยชน์ในกรณีที่มีปัญหาหลายปัญหา โดยจะได้ทราบว่าปัญหาใดอันตรายหรือเร่งด่วนมาก (เสี่ยงมาก) จะได้รีบแก้ไขก่อน ส่วนปัญหาใดอันตรายหรือเร่งด่วนน้อย ( เสี่ยงน้อย) ก็ค่อยหาทางปรับปรุงแก้ไขทีหลัง

    “การประเมินความเสี่ยง” (risk assessment) หรืออาจเรียกว่า “การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ” (health risk assessment; HRA) นั้น วิธีการประเมินโดยละเอียดจะทำในรูปแบบกระบวนการ มีขั้นตอนที่ชัดเจน มักมีการใช้ตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขที่ได้จากการตรวจวัดหรือการคำนวณจากสมการทำนาย เพื่อให้ได้ผลชี้วัดระดับความเสี่ยงที่ชัดเจนออกมา การประ เมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้เราได้ทราบว่าปัญหาที่พบมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด จะต้องทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแค่ไหน และจะมีแนวทางการควบคุมหรือลดความเสี่ยงลงได้อย่างไร จึงนับว่าการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพนั้นเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของวิชาอาชีวเวชศาสตร์เลยทีเดียว

    ความเสี่ยงจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้ง สิ่งคุกคามต้นเหตุ (hazard) การสัมผัส (exposure) และตัวรับสิ่งคุกคาม (host หรือ receiver) ดังกรณีต่อไปนี้

    สิ่งคุกคามต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น จุ่มมือลงในน้ำเกลือกับจุ่มมือลงในน้ำกรดเข้มข้น โอกาสที่ผิวหนังจะไหม้พองย่อมไม่เท่ากัน น้ำกรดมีโอกาสทำให้ผิวหนังไหม้พองได้มากกว่า
    ช่องทางการสัมผัสต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น การกินปรอทเข้าปาก ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยมาก โอกาสเป็นพิษน้อย แต่ถ้านำปรอทปริมาณเท่ากันมาทำให้เป็นไอ แล้วสูดดมเข้าไป ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างเต็มที่ โอกาสเป็นพิษมากกว่า
    ปริมาณการสัมผัสต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น ทำงานในอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งที่มีเสียงดังมาก ถ้าทำงานโดยไม่มีเครื่องป้องกันเสียงเหมือนกัน ระหว่างทำงานวันละ 2 ชั่วโมง กับทำงานวันละ 10 ชั่วโมง โอกาสในการเป็นโรคหูเสื่อมย่อมไม่เท่ากัน
    ตัวรับต่าง ความเสี่ยงต่าง เช่น สารตะกั่วจะก่อพิษในเด็กได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ ถ้าสัมผัสสารตะกั่วปริมาณเดียวกัน เด็กอาจมีอาการพิษเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้ใหญ่ยังคงปกติ
    ในสถานการณ์จริง เราจะต้องทำการประเมินความเสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยที่จะมีผลกระทบได้ทั้งหมด เช่น ถ้าต้องการตอบคำถามว่าพนักงานคนหนึ่ง ทำงานอย่างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากหรือน้อย อย่างน้อยเราควรทราบว่าพนักงานคนนั้นเป็นใคร มีโรคประจำตัวหรือไม่ สิ่งคุกคามในงานนั้นคืออะไร สัมผัสสิ่งคุกคามทางใด ปริมาณที่สัมผัสมากน้อยเท่าไร ระยะเวลาการสัมผัสนานแค่ไหน สภาพ แวดล้อมเป็นอย่างไร มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

    หนังสืออ้างอิง

    พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ. นนทบุรี : ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2547.
    DiBartholomeis MJ. Health risk assessment. In: Ladou J, editor. Current occupational and environmental medicine. 4 th ed. New York: McGraw-Hill 2007.
Visitors: 51,171